บทสัมภาษณ์ บก.จีนไทยจากสกุลไทย

บทสัมภาษณ์ บก.จีนไทยจากสกุลไทย

 
ในยุคที่ประเทศจีนก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญในเวทีโลก ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ภาษาจีนได้กลายเป็นภาษายอดฮิตที่ใครต่อใครหันมาศึกษา เพื่อหาคำตอบและใช้เป็นสื่อกลางทำความรู้จักประเทศจีนให้มากขึ้น คนไทยเองก็ตื่นตัวเรื่องการเรียนภาษาจีนไม่น้อย หลายโรงเรียนต่างบรรจุภาษานี้ไว้ในแผนการเรียนการสอน มหาวิทยาลัยแทบทุกแห่งเปิดหลักสูตรวิชาภาษาจีนให้เลือกเรียนเป็นวิชาเอก สถาบันสอนภาษาจีนผุดขึ้นราวกับดอกเห็ด และภายในร้านหนังสือต่างๆ ก็มีหนังสือความรู้ เสริมทักษะภาษาจีนวางเรียงรายหลากหลายปกให้เลือกอ่าน
 
มืออาชีพ” ฉบับนี้ จะพาไปรู้จักกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ก่อศักดิ์ ธรรมเจริญกิจบรรณาธิการบริหาร วารสารจีนไทย สองภาษารายเดือน ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญภาษาจีนคนหนึ่งในวงการ ผ่านประสบการณ์การทำงานด้านนี้มาอย่างโชกโชน ไม่ว่าจะเป็นในบทบาทอาจารย์มหาวิทยาลัย ล่าม นักแปล รวมไปถึงบทบาทปัจจุบัน นั่นคือ คนทำหนังสือภาษาจีน
 

บทบาทอันหลากหลาย

หลังจากเรียนจบปริญญาตรี อาจารย์ก่อศักดิ์กลับมาเป็นอาจารย์ภาษาจีนที่คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สอนอยู่ ๒ ปี ก็ได้รับทุนไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโทที่ฮ่องกง ก่อนจะกลับมาทำงานที่เดิม จนกระทั่งปี ๒๕๒๘ จึงย้ายมาสอนหนังสือที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจนเกษียณอายุ อาจารย์เล่าว่า สมัยก่อนภาษาจีนไม่ค่อยเป็นที่นิยม ส่วนคนที่เรียนอยู่ก็ไม่ค่อยอยากเปิดเผยตัวเองสักเท่าใดนัก

ในยุคนั้นคนยังเรียนภาษาจีนกันไม่เยอะ ต้องแทรกเอาไว้ในภาษาไทย ภาษาอังกฤษ เรียนแล้วรู้สึกอาย ดูเป็นคนโบราณ คร่ำครึ ไม่น่าจะเปิดเผยตัวเองสักเท่าไหร่”

ตรงข้ามกับสมัยนี้ ภาษาจีนกลายเป็นภาษายอดนิยม มีความสำคัญมากขึ้น เรื่องนี้อาจารย์ก่อศักดิ์แสดงความคิดเห็นไว้อย่างน่าสนใจ

ตอนนี้มองกันว่าจีนมีอนาคต เศรษฐกิจกำลังเติบโต ไม่ได้คิดว่าภาษาจีนดีหรือไม่ดีตรงไหน แม้แต่คนจีนเองเขาก็ไม่คิด เป็นเรื่องธรรมชาติ คนเราต้องการอะไรที่มีอนาคต หรือพูดเชยๆว่า สิ่งที่เรียนไปนั้นเอาไปทำมาหากินได้หรือไม่เท่านั้นเอง”

นอกจากจะสอนภาษาจีนให้แก่นิสิตแล้ว อาจารย์ก่อศักดิ์ยังมีโอกาสทำงานหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นล่ามภาษาจีน นักแปล นักวิจัย และคนทำหนังสืออีกด้วย แต่ทุกบทบาทที่แตกต่างเหล่านี้ ล้วนมีจุดร่วมเดียวกัน นั่นคือ ภาษาจีน

กลายมาเป็นคนทำหนังสือ

ด้วยประสบการณ์การสอนภาษาจีนมากว่า 30 ปี ทำให้อาจารย์ก่อศักดิ์เกิดแรงบันดาลใจ อยากสร้างสรรค์สื่อการเรียนรู้ เสริมทักษะการอ่าน จีน-ไทย ทั้งสองภาษา โดยมีตัวอักษรจีนให้ฝึกอ่าน ใช้ระบบพินอิน(PINYIN) กำกับการถอดเสียงภาษาจีน และมีคำแปลภาษาไทย ช่วยให้อ่านเข้าใจง่ายขึ้น “วารสารจีนไทย สองภาษารายเดือน” จึงเกิดขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์แนวคิด

ดังกล่าว

ผมคิดมาตลอดเลยครับ มองนิสิตที่สอนเป็นหลัก บางทีก็รู้สึกว่าไม่เก่งพอ นิสิตเองก็รู้สึกว่าตัวเองไม่เก่ง ถามว่าจริงไหม ก็เป็นเรื่องจริง เหตุผลหลักๆคือ ไม่มีการอ่าน ถามว่าไม่มีหนังสืออ่านเหรอ มีเยอะแยะเต็มไปหมด อ่านหนังสือพิมพ์เป็นไหม พูดตามตรง อ่านไม่เป็น ผมเคยสอนวิชาการอ่านหนังสือพิมพ์จีนนะ ใช้เวลาเป็นอาทิตย์ ต้องอธิบายทีละคำ ก็เหมือนกับสอนภาษา ไม่ใช่การอ่านหนังสือพิมพ์ ผมเลยอยากจะสร้างอะไรสักอย่างที่อ่านเป็นประจำได้ เพื่อให้ได้ฝึกอ่านอย่างมีคุณภาพ”

จากประสบการณ์การเรียนภาษาต่างประเทศของตนเอง รวมเข้ากับประสบการณ์การสอนภาษาจีนให้แก่นิสิต นักศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย ทำให้อาจารย์ก่อศักดิ์เข้าใจปัญหาการเรียนภาษาต่างประเทศของคนไทยเป็นอย่างดี

ผมเองก็เป็นคนหนึ่งที่เรียนภาษาต่างประเทศเหมือนกัน การอ่านวรรณกรรมของต่างประเทศ จะดีที่สุดต้องอ่านต้นฉบับภาษานั้น แต่เอาเข้าจริงๆ อ่านไปก็ไม่รู้เรื่องอยู่ดี(หัวเราะคนส่วนใหญ่ก็น่าจะเป็นอย่างนั้น ต้องหาตัวช่วยไงครับ ถ้าไปอ่านภาษาจีนไม่เข้าใจ อ่านภาษาไทยก่อน แล้วกลับไปอ่านอีกที ก็รู้สึกว่ามีกำลังใจ ทำนองว่าฉันอ่านเข้าใจแล้ว”

จวบจนปัจจุบัน กว่า ๑๑ ปีแล้วที่วารสารจีนไทย สองภาษารายเดือน ยืนหยัดอยู่คู่แผงหนังสือ ในฐานะหนังสือ สื่อเสริมทักษะการเรียนรู้ภาษาจีน เนื้อหาความรู้ภายในเล่ม มุ่งเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับศิลปะ สังคม วัฒนธรรม และประเพณีจีน เพื่อเพิ่มพูนทักษะการอ่านภาษาจีนอย่างมีคุณภาพ

ก้าวต่อไป

 

ทุกวันนี้ แม้ว่าอายุอานามจะขึ้นเลขหกไปหลายปีแล้ว อาจารย์ก่อศักดิ์ก็ยังคงทำงานทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นงานสอนหนังสือ รับเป็นวิทยากรไปบรรยายหัวข้อต่างๆ เกี่ยวกับภาษาและวัฒนธรรมจีน และการทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการบริหารวารสารจีนไทย สองภาษารายเดือน

ผมคิดว่าเพราะผมเข้าใจภาษาจีน เวลาทำอะไรเกี่ยวกับภาษาจีนก็จะรู้สึกว่าสนุก อะไรที่เราไม่เข้าใจ เราก็ทำไม่ได้อยู่ดี ถ้าเราฝืนทำก็เหนื่อย แล้วก็ทำไม่ได้ดี ตามที่ขงจื๊อพูดไว้ อะไรที่เราเข้าใจแล้วมีความสุขกับสิ่งนั้น ก็จะเกิดความสนุก ซึ่งมี ๓ ระดับนะครับ อยากรู้ รัก และมีความสุขกับสิ่งนั้น”

อาจารย์ก่อศักดิ์ยังเชื่อมั่นอีกว่า การงานใดก็ตาม หากได้ลองฝึกฝนจนขึ้นใจ ย่อมส่งผลให้ ผู้ปฏิบัติเกิดความชำนาญ สามารถพัฒนาตนเอง และก้าวหน้าขึ้นไปอีกขั้นหนึ่งเสมอ

อะไรที่ทำแล้วพัฒนาในตัวน่ะ ไม่ต้องไปคิดหรอก ทำบ่อยๆ ทำไปเรื่อยๆ ก็คือการพัฒนา อย่างเป็นเด็ก กินข้าว ๑ ถ้วย ก็โตขึ้นอีกหน่อย เหมือนคนแก่กินข้าวอีก ๑ ถ้วย ก็แก่ลงอีกหน่อย(หัวเราะอะไรที่ทำไปแล้วต้องมีผล คำพูดพูดไป ๑ ประโยค ก็เกิดผลแล้ว นี่คือปรัชญา...

การทำของใหม่ไม่มีในโลก เรามีแต่ยืนอยู่บนพื้นฐานของสิ่งอื่น แล้วก็เกิดความคิดสร้างสรรค์เล็กน้อย ตามสำนวนจีนที่ว่า ‘ถ้าไม่สืบทอด เราก็ไม่มีทางที่จะสร้างสรรค์ได้’ สิ่งสร้างสรรค์ทุกอย่างอยู่ที่พื้นฐานการสืบทอดของเราเยอะหรือเปล่า ถ้าอะไรสืบทอดมาเยอะ ก็จะมีแรงสร้างสรรค์เพิ่มขึ้นได้นิดหน่อย อย่างเช่นเรียนภาษา อยากให้มีความรู้ทางภาษาเยอะ ก็อาจจะเกิดแรงสร้างสรรค์เล็กน้อยขึ้นมาจากพื้นฐานแห่งการสืบทอด เพราะฉะนั้นหากการสืบทอดไม่มี การสร้างสรรค์ก็ไม่มีเช่นกัน”

นี่คือเรื่องราวจีนๆ ไทยๆ สองภาษาที่น่าสนใจ ในมุมมองของ “ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ก่อศักดิ์ ธรรมเจริญกิจ” ผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการภาษาจีนบ้านเรา จนเรียกได้ว่าเป็น “มืออาชีพ”

Visitors: 48,042